เกี่ยวกับเรา
โดยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในการติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน ณ “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” เริ่มเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันรวมมีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาทั้งสิ้นจำนวนมากกว่า 865 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567) ซึ่งจำแนกออกเป็นประเภทของกลุ่มโรค 3 อันดับแรก ที่มาเข้ามารับการักษา ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ และมะเร็งในสมอง โดยเป็นคนไทย 90% และ ชาวต่างชาติ 10%
การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน ทำให้เนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบก้อนมะเร็งทั้งส่วนหน้าและส่วนหลังจะได้รับปริมาณรังสีที่น้อย หรือแทบไม่โดนรังสี ผลกระทบจากรังสีในร่างกายจึงมีผลดีกว่ารูปแบบอื่น มีความเสี่ยงน้อย การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน แพทย์มักจะเลือกใช้รักษามะเร็งในส่วนที่ก้อนมะเร็งหรือเนื้องอกใกล้เคียงกับอวัยวะสำคัญ เช่น มะเร็งฐานกะโหลกศีรษะ มะเร็งบริเวณไซนัส หรือ มะเร็งตับ เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นนวัตกรรมที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ทุกเพศ ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเด็ก เพราะรังสีที่อวัยวะปกติได้รับมากเกินไปจากการรักษา ย่อมมีผลต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตของเด็ก
ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นับเป็นมิติใหม่ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์ต้นแบบในการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อมอบการรักษาที่ดีที่สุดและเข้าถึงง่ายที่สุดให้แก่ผู้ป่วยทุกคน