ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกหรือมะเร็งบริเวณเต้านมอาจได้ประโยชน์จากการใช้อนุภาคโปรตอน ซึ่งสามารถลดปริมาณรังสีที่ปอดและหัวใจได้ เราสามารถหยุดอนุภาคโปรตอนที่บริเวณหลังจากบริเวณที่ต้องการได้รังสี จึงทำให้เนื้อเยื่อปกติข้างเคียงได้รับรังสีที่น้อยมาก ไม่เหมือนกับการฉายรังสีทั่วๆไปที่อาจมีปริมาณรังสีจำนวนหนึ่งตกไปยังบริเวณเนื้อเยื่อข้างเคียงจึงทำให้การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอนเป็นวิธีที่แตกต่างจากการใช้รังสีอื่นๆ ในกรณีของมะเร็งเต้านมนั้น การฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนสามารถลดปริมาณรังสีไปที่เนื้อเยื่อใกล้เคียง นั่นก็คือ หัวใจ โดยเฉพาะเต้านมข้างซ้ายที่ค่อนข้างใกล้กับตำแหน่งหัวใจ ลดปริมาณรังสีไปที่ปอดซึ่งอาจเกิดการทำงานของปอดที่แย่ลงหากมีปริมาณมากเข้าไปในปอด นอกจากนี้ยังสามารถลดโอกาสการเกิดมะเร็งทุติยภูิม หรือมะเร็งที่สอง (secondary malignancy) ซึ่งเป็นความเสี่ยงจากการได้รับปริมาณรังสีจากการฉายรังสี มีหลายการศึกษาที่ให้ผลการศึกษาว่าการใช้อนุภาคโปรตอนในการฉายรังสีสามารดปริมาณรังสีไปที่หัวใจและปอดได้มากกว่าการฉายรังสีแบบปกติทั่วไป (conventional treatment) และยังสามารถให้ปริมาณครอบคลุมบริเวณที่ต้องการฉายรังสี โดยเฉพาะในกรณีที่บริเวณฉายรังสีครอบคลุมถึงบริเวณต่อมน้ำเหลืองหรือมีบริเวณที่กว้างมากขึ้น
เมื่อผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาที่เรา จะมีการทำงานประสานกันเป็นทีมร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญแผนกอื่นๆ
ปัจจุบันเราใช้อนุภาคโปรตอนในการรักษา
-
- เนื้องอกเต้านมหลังการผ่าตัด
- มะเร็งเต้าระยะเริ่มต้น และระยะลุกลาม
- มะเร็งเต้านมกรณีที่มีการกลับมาเป็นซ้ำ
- มะเร็งเต้านมกรณีที่เคยฉายรังสีมาก่อน และมีความจำเป็นต้องฉายรังสีซ้ำ
- ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีได้รับการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม
- ผู้ป่วยมะเร็งเนื้อเยื่อที่เกิดขึ้นบริเวณเต้านมหรือทรวงอก