มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี

การรักษามะเร็งตับด้วยอนุภาคโปรตอน

อนุภาคโปรตอนมีคุณสมบัติเด่นที่ต่างจากรังสีเอกซเรย์ คือ สามารถให้รังสีโฟกัสไปยังก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยำ และลดปริมาณรังสีไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ ทำให้การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอนมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ

 

 

ภาพเปรียบเทียบปริมาณรังสีที่ไปยังเนื้อตับปกติ โดยพบว่าการฉายด้วยรังสีเอกซเรย์หรือโฟตอนจะมีรังสีไปยังเนื้อตับปกติมากกว่าการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอน

เครื่องฉายรังสีอนุภาคโปรตอนของศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นเครื่องฉายรังสีรุ่นใหม่ สามารถฉายรังสีด้วยเทคนิค intensity-modulated pencil beam scanning ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้สามารถให้รังสีปริมาณสูงไปยังก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยำ และลดปริมาณรังสีไปยังอวัยวะข้างเคียงได้

การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอนสำหรับมะเร็งที่ตับมีประโยชน์ในโรคมะเร็งตับปฐมภูมิ ได้แก่ hepatocellular carcinoma และมะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma) อีกทั้งยังมีประโยชน์สำหรับมะเร็งชนิดอื่นที่มีการแพร่กระจายไปที่ตับ (liver metastasis) อีกด้วย

ประโยชน์ของอนุภาคโปรตอนในการรักษาโรคมะเร็งตับมีหลายประการ ได้แก่

  1.   เป็นการรักษาที่มีความแม่นยำสูง ปริมาณรังสีส่วนใหญ่ให้ไปยังก้อนมะเร็งโดยตรง
  2.   สามารถลดปริมาณรังสีที่ไปยังอวัยวะปกติข้างเคียง เช่น เนื้อตับปกติ กระเพาะอาหาร ไต ลำไส้เล็ก เป็นต้น
  3.   เป็นวิธีที่ไม่เจ็บปวด ไม่ต้องการการพักพื้นนาน ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีระหว่างการฉายรังสี
  4.   ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการฉายรังสี เช่น ภาวะตับวายจาการฉายรังสี อาการคลื่นไส้อาเตียน อ่อนเพลีย เป็นต้น

 

ทั้งนี้วิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับโรคมะเร็งตับในผู้ป่วยแต่ละรายมีความตกต่างกัน ทั้งระยะของโรค สภาพร่างกายของผู้ป่วย ประสิทธิภาพการทำงานของตับ รวมทั้งโรคประจำตัวอื่นๆ ดังนั้นหากท่านมีข้อสงสัยว่าตัวท่านหรือครอบครัวของท่านเหมาะกับการรักษาด้วยอนุภาคโปรตอนหรือไม่สามาถปรึกษาทีมของเราได้